วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่ สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคใต้
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่ (อังกฤษ : Krabi College of Agriculture and Technology ) เป็นวิทยาลัยด้านการเกษตร สังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคใต้ ตั้งอยู่ในจังหวัดกระบี่ โดยเปิดสอน 2 หลักสูตร คือ ประกาศนียบีตรวิชาชีพ (ปวช.), ประกาศนียบีตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
ชื่อย่อ | วษท.กบ. / K-CAT |
---|---|
คติพจน์ | “งานเด่น เรียนดี มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำสังคม” |
ประเภท | รัฐบาล - วิทยาลัย สังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคใต้ |
สถาปนา | พ.ศ. 2522 |
ผู้อำนวยการวิทยาลัย | นางประนอม อาจหาญ |
ที่ตั้ง | |
เว็บไซต์ | http://kcat.ac.th/ |
ประวัติ
[แก้]วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่ แรกเริ่มเดิมชื่อวิทยาลัยเกษตรกรรมกระบี่ เป็นสถานศึกษาสังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 5 จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะจัดตั้งสถานศึกษาเกษตรกรรมขึ้นให้ครบทุกจังหวัด เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ปี พ.ศ. 2522 เป็นปีชาวไร่ชาวนา และเพื่อขยายการศึกษาทางด้านอาชีวเกษตรให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ผลิตกำลังคนระดับกลางด้านเกษตรกรรม ให้มีความรู้ความสามารถในวิชาการเกษตร จังหวัดกระบี่เป็นผู้ดำเนินการจัดหาที่ดินให้โดยตัวแทนกรมอาชีวศึกษาได้ทำการสำรวจพื้นที่และหาข้อมูลต่าง ๆ และได้ตกลงใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ ทุ่งควนยาว หมู่ 3 และหมู่ 6 ที่ตำบลห้วยยูง อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ห่างจากตัวจังหวัดกระบี่และอำเภอเมืองเป็นระยะทาง 25 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งสิ้น 1,708 ไร่ 1 งาน 47 ตารางวา ลักษณะพื้นที่มีป่าไม้ขนาดเล็กอยู่ทั่วไป และพื้นที่มีทั้งเป็นติดกัน ที่ราบและเป็นเนินสูงลาดเท วิทยาลัยได้เปิดทำการสอนในปีการศึกษา 2525 หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.เกษตรกรรม) มีจำนวนบุคลากรคือ ครู-อาจารย์ 10 คน ลูกจ้างประจำและชั่วคราว 5 คน นักเรียน 120 คน
พ.ศ. 2527 เปิดสอนหลักสูตรพิเศษ (ฝึกอบรมเกษตรกรรมระยะสั้นและเคลื่อนที่) โดย อบรมเกษตรกรในวิทยาลัย และออกไปอบรมตามหมู่บ้าน รุ่นละ 3-5 วัน ปีงบประมาณ ละ700 คน
พ.ศ. 2528 เปิดสอนหลักสูตร ปวส.เกษตรกรรม 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาพืชศาสตร์และสัตวศาสตร์
พ.ศ. 2538 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน ในกรมอาชีวศึกษาและได้ประกาศจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน ในวิทยาลัยเกษตรกรรมกระบี่ มีชื่อว่า “ วิทยาลัยชุมชนห้วยยูง” โดยเปิดสอนในประเภทวิชาต่าง ๆ เช่น ประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรมและบริหารธุรกิจในหลักสูตร ปวช.และ ปวส.
พ.ศ. 2539 ฯพณฯ สุขวิช รังสิตพล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้มีนโยบายปฏิรูปการศึกษาเกษตรเพื่อชีวิต โดยรับผู้จบการศึกษาชั้น ม.3 จากโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สปช.) เข้าเรียนหลักสูตร ปวช.สาขาเกษตรศาสตร์ โดยยกเว้นค่าเล่าเรียนตลอดระยะเวลา 3 ปีที่เรียน และให้เป็นนักเรียนประจำได้รับเงินอุดหนุน 5,000 บาทต่อปี
วันที่ 26 กันยายน 2539 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้วิทยาลัยเกษตรกรรมทั่วประเทศ เปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี วิทยาลัยจึงใช้ชื่อว่าวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่ มาตั้งแต่บัดนั้น[1]
เปิดสอน
[แก้]ปัจจุบันทำการเรียนการสอน ดังนี้
หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ
[แก้]รับนักเรียนจบ ม.3 เรียนต่อ 3 ปี
- สาขาวิชาเกษตรศาสตร์
- สาขาวิชาพณิชยการ
หลักสูตรประกาศนียบีตรวิชาชีพชั้นสูง
[แก้]รับนักเรียนจบ ม.6 หรือ ปวช. เรียนต่อ 2 ปี
- สาขาวิชาการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศ
- สาชาวิชาเกษตรศาสตร์
- สาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิทัศน์
- สาขาวิชาพืชศาสตร์
- สาขาวิชาสัตวศาสตร์[2]
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว๊บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เก็บถาวร 2018-08-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว๊บไซต์สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคใต้
- เว๊บไซต์วิทยาลัย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ https://sites.google.com/kcat.ac.th/main/about
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-10. สืบค้นเมื่อ 2017-05-10.